งานพัฒนานักศึกษา กองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์กิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนานักศึกษา งานพัฒนานักศึกษา กองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ วิทยาเขตหาดใหญ่
การประกวดผลงานนวัตกรรมสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙
หน้าแรก » การประกวดผลงานนวัตกรรมสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙04 ก.พ. 2559 13:381,000

การประกวดผลงานนวัตกรรมสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙
(Innovation for Crime Combating Contest 2016 : I4C-2016)

เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จัดให้มีการประกวดผลงานนวัตกรรมสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน (Innovation for Crime Combating Contest) อย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้เป็นปีที่ ๔ โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน

ในการนี้ จึงขอเชิญชวน นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร

กำหนดการที่สำคัญ
• วันปิดรับผลงานประกวด วันอังคารที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙
• วันประกาศผู้ผ่านการคัดเลือก วันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙
• วันส่งผลงานฉบับสมบูรณ์ วันศุกร์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๙
• วันประกาศผลและมอบรางวัล วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ (ในงานสัมมนาวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษเพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

คุณสมบัติผู้เข้าประกวด
นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ประเภทผลงานที่สามารถส่งเข้าร่วมประกวด
• Image enhancement (ข้อมูลภาพถ่ายและวิดีโอที่บันทึกไว้ได้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสืบสวนสอบสวน แต่ข้อมูลจำนวนมากที่ได้รับมามีคุณภาพต่ำ เช่น ภาพที่ได้จากกล้องที่มีรายละเอียดน้อย การเบลอเนื่องจากการเคลื่อนที่ของวัตถุ หรือกล้องถ่ายภาพ การไม่สามารถระบุสีของวัตถุที่ถ่ายภาพจากกล้องถ่ายภาพที่มีสภาพแสงน้อย หรือ ภาพมืดหรือสว่างไป เป็นต้น การปรับปรุงคุณภาพของภาพนิ่งและภาพวิดีโอที่มีปัญหาดังกล่าวนี้เป็นความต้องการสำคัญหนึ่งของหน่วยงานทางกฏหมาย)
• Biometrics (องค์ประกอบหนึ่งในการสืบสวนสอบสวนคือการระบุตัวผู้กระทำกิจกรรม หรือระบุตัวบุคคล การระบุบุคคลด้วยเทคโนโลยี อาจใช้ข้อมูลทางชีวภาพที่เก็บรวบรวมจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ ลายนิ้วมือ ภาพจอเรตินา เสียงพูด ภาพใบหน้า ภาพอื่น เป็นต้น เทคโนโลยีที่ต้องการในเรื่องนี้ได้แก่ การค้นหา
การพิสูจน์ตัวตน การวิเคราะห์ และอุปกรณ์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ เป็นต้น)
• Crowdsourcing (กิจกรรมอาชญากรรมในปัจจุบันมีรูปแบบที่พัฒนาการไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดร่องรอยทางสารสนเทศที่ปรากฏในระบบคอมพิวเตอร์เฉพาะ รวมทั้งที่เป็นข้อมูลสาธารณะที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต การทำงานกับทรัพยากรสารสนเทศเหล่านี้อาจทำโดยอาศัยกลุ่มที่เกิดจากความร่วมมือของสังคมออนไลน์ในการทำการวิเคราะห์ ประมวลผล สารสนเทศในหลายมิติ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมหรือหาแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยหรือภัยทางสังคมในภาพใหญ่ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งการป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรม)
• ผลงานนวัตกรรมสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนประเภทอื่น ๆ

ขั้นตอนการประกวด
• ผู้เข้าประกวดส่งผลงานในรูปแบบ Short Proposal โดยต้องมีรายละเอียดครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนด พร้อมใบนำส่งผลงาน ทางอีเมล dsi.sird@gmail.com ภายในวันอังคารที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙
• คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงาน และประกาศผู้ผ่านการคัดเลือก วันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ โดยผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับแจ้งให้มานำเสนอผลงานในรูปแบบปากเปล่า (Oral Presentation) หรือ รูปแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation)
• ผู้ผ่านการคัดเลือกปรับปรุงผลงานให้เป็นฉบับสมบูรณ์ตามรูปแบบที่ได้รับแจ้ง และส่งผลงานฉบับสมบูรณ์ทางอีเมล dsi.sird@gmail.com ภายในวันศุกร์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๙ 
• ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องมานำเสนอผลงานในงานสัมมนาวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษเพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ (กำหนดการโดยละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป) 
• ประกาศผลและมอบรางวัลภายในงานสัมมนาฯ
หมายเหตุ: หากผู้ผ่านการคัดเลือกมีต้นแบบ (prototype) ของผลงาน สามารถนำมาแสดงในงานสัมมนาฯ ได้ เพื่อประกอบการนำเสนอผลงานแก่คณะกรรมการ

รายละเอียดของผลงาน (Short Proposal) 
ผู้เข้าประกวดต้องส่งผลงานในรูปแบบ Short Proposal โดยมีรายละเอียด ดังนี้
• ชื่อผลงานภาษาไทย
• ชื่อผลงานภาษาอังกฤษ
• ชื่อนิสิต/นักศึกษาผู้ทำผลงาน และอาจารย์ที่ปรึกษา
• ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
• วัตถุประสงค์
• การทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
• วิธีการพัฒนา และเทคนิคที่ใช้
• จุดเด่นของงาน และประโยชน์ในการนำไปใช้
• ผลการวิจัย และสรุปผล (ถ้ามี)
• หนังสือหรือเอกสารอ้างอิง (ใช้ IEEE format)
ผลงานต้องมีจำนวนหน้ารวมทั้งหมดไม่เกิน ๖ หน้ากระดาษ A4 ใช้ฟอนต์ TH SarabunPSK เท่านั้น 
ส่วนที่เป็นหัวข้อ ให้ใช้ตัวอักษรขนาด ๑๘ ตัวหนา ส่วนที่เป็นเนื้อหา ให้ใช้ตัวอักษรขนาด ๑๖ ตัวธรรมดา

รางวัลการประกวด รวมทั้งสิ้น ๒๐,๐๐๐ บาท แบ่งเป็น
๑) การนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Oral Presentation)
• รางวัลชนะเลิศอันดับที่ ๑ เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร
• รางวัลชนะเลิศอันดับที่ ๒ เงินรางวัล ๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร
• รางวัลชนะเลิศอันดับที่ ๓ เงินรางวัล ๓,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร
• เกียรติบัตรชมเชย ประเภทการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า
๒) การนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation)
• รางวัลโปสเตอร์ดีเด่น เงินรางวัล ๒,๐๐๐ บาท และเกียรติบัตร
• เกียรติบัตรชมเชย ประเภทการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์
หมายเหตุ: ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า อาจได้รับพิจารณาให้ส่งบทความ Invited paper หรือ บทความใน Special session ในการประชุมวิชาการภายในประเทศเป็นกรณีพิเศษ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน หากมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบต่อไป

เกณฑ์การให้คะแนน 
• ประโยชน์ในการนำไปใช้ (๔๐ คะแนน)
• ความคิดสร้างสรรค์ (๓๐ คะแนน)
• วิธีการพัฒนา และเทคนิคที่ใช้ (๓๐ คะแนน)

ดาวน์โหลด template สำหรับพิมพ์ผลงาน (Short Proposal) ที่นี่
https://drive.google.com/open…

ดาวน์โหลด ใบนำส่งผลงาน ที่นี่
https://drive.google.com/open…

ดาวน์โหลด วิธีการเขียนเอกสารอ้างอิงแบบ IEEE format ที่นี่
https://drive.google.com/open…

ดาวน์โหลด ฟอนต์ TH SarabunPSK ที่นี่
https://drive.google.com/open…

ดาวน์โหลด รายละเอียดการส่งผลงานร่วมประกวด ที่นี่
https://drive.google.com/open…

แสดงความคิดเห็น หรือสอบถามรายละเอียด